ผศ.ดร.ณัธคพัชฬ รัตนพิทูลย์
ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

พยาธิใบไม้ปอดก่อโรค Paragonimiasis มีรายงานในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เกิดจากการรับประทานอาหารแบบดิบๆ ที่ทำมาจากปูภูเขาหรือกุ้งภูเขา มีสัตว์ที่เป็นรังเก็บโรค คือ สุนัข แมว เสือ พยาธิใบไม้ปอดที่สำคัญๆ เช่น Paragonimus westermani, P. heterotremus (พบในประเทศไทย)

Paragonimus westermani

พยาธิตัวเต็มวัยมีรูปร่างรีคล้ายรูปไข่ มีสีแดงแกมน้ำตาล ผิวหนังมีหนามเล็ก ๆ ปกคลุม  oral sucker และ ventral sucker มีขนาดใกล้เคียงกัน ventral sucker อยู่กลางลำตัว อัณฑะมี 2 อัน ไม่มี cirrus pouch  รังไข่เป็น lobe อยู่ด้านซ้ายหรือขวาของ ventral sucker  ลำไส้แยกเป็น 2 แขนงทอดตัวที่สองข้างของลำตัวไปสุดที่ส่วนท้าย เป็นลักษณะสำคัญของพยาธิชนิดนี้ที่ใช้แยกกับ genus อื่นๆ vitelline follicle ตรงข้ามกับรังไข่ มี excretory bladder เป็นถุงยาว

P. heterotremus

ตัวเต็มวัยคล้ายกับ P. westermani รูปร่างรี ส่วนหัวท้ายค่อนข้างเรียวแหลม ผิวหนังปกคลุมด้วยหนาม oral sucker อยู่ปลายสุดของส่วนหัวใหญ่กว่า ventral sucker รังไข่แตกแขนงอย่างละเอียด มดลูกขดไปมาเป็นกลุ่ม อัณฑะมี 2 อัน

ภาพที่ 1 ภาพวาดระยะตัวเต็มวัยพยาธิใบไม้ปอด

วงจรชีวิต

พยาธิระยะตัวเต็มวัยอาศัยในเนื้อปอดของโฮสท์จำเพาะ ไข่ออกมากับเสมหะ และถูกกลืนผ่านไปที่ลำไส้ปนออกมากับอุจจาระ เมื่อไข่ที่ปนในอุจจาระตกลงแหล่งน้ำ จะเจริญเป็นระยะ miracidium ว่ายน้ำและไชเข้าโฮสท์ตัวกลางที่ 1 คือ หอยน้ำจืด เจริญเป็น sporocyst , redia , cercaria แล้วออกจากตัวหอยไชเข้าสู่โฮสท์ตัวกลางที่ 2 คือ กุ้งภูเขา ปูภูเขา กลายเป็นระยะติดต่อ metacercaria คนจะได้รับเชื้อจาก การกินอาหารดิบๆ ตัวอ่อนจะออกจากเกราะหุ้มที่ลำไส้เล็กส่วนต้น และไชผ่านผนังลำไส้เข้าสู่ช่องท้อง ผ่านกะบังลมเข้าสู่เยื่อหุ้มปอดไปฝังตัวที่เนื้อปอด ภายในปอดพยาธิตัวอ่อนจะกลายเป็นตัวแก่ ระยะเวลาของแต่ละวงจรกินเวลาประมาณ 7 เดือน

ภาพที่ 2 ภาพวาดแสดงวงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ปอด

พยาธิสภาพและอาการ

พยาธิตัวอ่อนไชผ่านผนังลำไส้ กะบังลม ปอด จะยังไม่มีอาการมากนัก แต่เมื่อพยาธิไปถึงที่ปอดจะทำให้เนื้อปอดเกิดการอักเสบ เนื้อปอดบริเวณนั้นตาย และมีพังผืดมาหุ้มตัวพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดงรอบๆ ตัวพยาธิมีหนองข้นเหนียวปนเลือด และไข่พยาธิ  เมื่อแตกออกเข้าสู่หลอดลม ขณะไอจะมีเสมหะปนหนองและไข่พยาธิจะปนออกมาด้วย เสมหะจะมีสีสนิม ถ้าพยาธิไปอยู่ที่กล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังได้

การตรวจวินิจฉัย  

  1. ผู้ป่วยมีประวัติไอเรื้อรังมานาน มีเสมหะปนเลือด บางครั้งไอเป็นเลือดสด
  2. มีประวัติกินปูน้ำจืดหรือกุ้งแบบสุก ๆ ดิบ ๆ
  3. ตรวจพบไข่พยาธิในเสมหะ อุจจาระ น้ำจากช่องปอด หรือน้ำไขสันหลั
  4. เอกซ์เรย์ปอดอาจพบโพรงหรือเงาทึบมีลักษณะกลมเป็นวงแหวน ขอบไม่ชัดเจน และมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
  5. การวินิจฉัยทางภูมิคุ้มกัน เช่น ELISA

 การรักษา

ให้ยา Praziquantel 75 มิลลิกรับม/กิโลกรัม แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง นาน 3 วัน

การควบคุมและป้องกัน

  1. ให้ประชาชนเข้าใจถึงวงชีวิตและการป้องกัน
  2. ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงด้วยปูนาหรือกุ้งดิบ ๆ
  3. ไม่ถ่ายอุจจาระเรี่ยราด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายลงน้ำ ไม่บ้วนเสมหะเรี่ยราดตาม พื้นดิน
  4. กำจัด intermediate host เช่นหอยน้ำจืด ปูภูเขา กุ้งภูเขา
  5. กำจัดสัตว์ที่เป็น reservior host เช่น สุนัข แมว เสือ

เอกสารอ้างอิง

  1. ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์. ปรสิตวิทยาสำหรับพยาบาลและสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ 1. สมบูรณ์การพิมพ์ จำกัด, นครราชสีมา. 278 หน้า
  2. ชโลบล วงศ์สวัสดิ์. ปรสิตวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. ชมพูการพิมพ์, เชียงใหม่. 254 หน้า
  3. นิมิต มรกต และเกตุรัตน์ สุขวัจน์. ปรสิตวิทยาทางการแพทย์: โปรโตซัวและหนอนพยาธิ. พิมพ์ครั้งที่ 1: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2546, 477 หน้า
  4. ประยงค์ ระดมยศ. อัญชลี ตั้งตรงจิตร. ศรีวิชา ครุฑสูตร. พลรัตน์ วิไลรัตน์. ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ. 2547. Atlas of Medical Parsitology with 465 color illustrations. สำนักพิมพ์เมดิคัล มีเดีย. กรุงเทพฯ. 465 หน้า
  5. ประยงค์ ระดมยศ, สุวณี คีภเวชย์ และศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ. 2539. ตำราปาราสิตวิทยาทางการแพทย์. ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 355 หน้า
  6. ประยงค์ ระดมยศ อัญชลี ตั้งตรงจิตร พลรัตน์ วิไลรัตน์ ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ แทน จงศุภชัยสิทธิ์. 2538. Atlas of Medical Parasitology. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์เมดิคัล มีเดีย. กรุงเทพฯ. 456 หน้า
  7. วีระยุทธ แดนสีแก้ว. 2538. ปรสิตวิทยาพื้นฐานทางการแพทย์. ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 301 หน้า.