ผศ.ดร.ณัธคพัชฬ รัตนพิทูลย์
ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 

พยาธิใบไม้ลำไส้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก่อโรค Fasciolopsiasis เป็นโรคพยาธิใบไม้ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ที่ชอบบริโภคผักน้ำสด พืชน้ำ แห้ว กระจับ แหล่งระบาดมักพบในพื้นที่ภาคกลาง เช่น กาญจนบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี บางส่วนของตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาพที่ 1 ภาพวาดตัวเต็มวัยพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดใหญ่

รูปร่างลักษณะ

ตัวแก่มีรูปร่างเป็นรูปไข่ ยาวและแบน ผิวหนังคลุมด้วยหนามเล็ก ๆ เรียงเป็นแถว มี Oral sucker อยู่ทางส่วนหน้าเกือบถึงปลายสุด ส่วน ventral sucker อยู่ถัดจากส่วนหน้าลงมาเล็กน้อยมีขนาดโตกว่า oral sucker 2 เท่า pharynx สั้น ลำไส้แยกออกเป็น 2 แขนง รังไข่เป็นแขนงอยู่ตรงกลางตัวค่อนไปด้านขวาเล็กน้อยประมาณครึ่งหนึ่งจากกึ่งกลางลำตัวไปทางส่วนหน้า มดลูกขดไปมา vittelline gland เป็นก้อนเล็ก ๆ เรียงตัวอยู่ 2 ข้างของลำตัวจากระดับของ ventral sucker เรื่อยไปจนจดกันที่ปลายสุดของส่วนหลัง ไข่ มีรูปร่างกลมรี สีเหลือง มีฝา (Operculum) ภายในไข่ยังไม่มีการเจริญเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลง (unsegmented ovum) ขณะที่ออกสู่ภายนอกร่างกายพร้อมอุจจาระใหม่ๆ

วงจรชีวิต

โฮสท์เฉพาะคือคนและหมู พยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ในบริเวณลำไส้เล็ก (duodenum และ jejunum) ไข่ปนออกมากับอุจจาระ ระยะตัวอ่อน (miracidium) ฟักออกจากไข่ในน้ำ ตัวอ่อนจะไชเข้าสู่โฮสท์ตัวกลางที่ 1 คือหอยน้ำจืด แล้วเจริญต่อไปเป็นตัวอ่อนระยะ cercaria จากนั้นไชออกจากหอยและว่ายไปเกาะพืชน้ำซึ่งเป็นโฮสท์ตัวกลางที่ 2 เช่น กระจับ สายบัว ผักบุ้ง ผักตบชวา แห้วจีน เป็นต้น ตัวอ่อนจะเข้าหุ้มเป็นระยะติดต่อ (metacercaria) ซึ่งจะเกาะอยู่แถวพืชเหล่านั้น เมื่อคนกินพืชเหล่านั้นแบบดิบๆ ที่ล้างไม่สะอาดหรือไม่สุก ตัวอ่อนระยะติดต่อจะเข้าไปในร่างกายเมื่อมาถึงกระเพาะ ตัวอ่อนจะแตกออกมาจากเปลือกหุ้ม แล้วเจริญไปเป็นตัวแก่บริเวณลำไส้เล็กส่วนบนต่อไป

ภาพที่ 2 ภาพวาดวงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดใหญ่

พยาธิสภาพและอาการ

กรณีมีการติดเชื้อน้อยๆ อาจไม่มีอาการเลย บางรายอาจเกิดแผลบริเวณที่พยาธิเกาะกับผนังลำไส้  มีการอักเสบ เลือดออก  Mucosa ของลำไส้บวม การดูดซึม อาหารอาจผิดปกติไป ในบางรายจะมีอาการภูมิแพ้หรือเป็นผลจากสารพิษจากตัวพยาธิ

การตรวจวินิจฉัย  

  1. การตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่ ตัวพยาธิ
  2. ประวัติของคนว่ามาจากพืนที่ระบาดหรือไม่ เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สระบุรี

การรักษา

ให้ยา Praziquantel 15 มก. ต่อ กก. กินครั้งเดียวก่อนนอน

การควบคุมและป้องกัน

  1. ผักน้ำควรล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อชะระยะติดต่อให้หลุดไป
  2. พืชผักน้ำที่เป็นสาเหตุของโรค ควรต้มหรือทำให้สุกก่อน
  3. ไม่นำพืชผักน้ำที่เป็นสาเหตุของโรคมาใช้เลี้ยงหมูโดยต้มหรือทำให้สุกก่อน
  4. กำจัดหอยที่เป็น intermediate host
  5. ไม่ใช้อุจจาระทำปุ๋ยรดผัก
  6. อุจจาระที่จะนำมาทำปุ๋ยควรเติมสารเคมี เช่น ปูนขาว ก่อนนำไปใช้
  7. ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและให้การรักษา
  8. ให้สุขศึกษาแก่ประชาชนให้เข้าใจถึงวงจรชีวิตของพยาธินี้

เอกสารอ้างอิง

  1. ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์. ปรสิตวิทยาสำหรับพยาบาลและสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ 1. สมบูรณ์การพิมพ์ จำกัด, นครราชสีมา. 278 หน้า
  2. ชโลบล วงศ์สวัสดิ์. ปรสิตวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. ชมพูการพิมพ์, เชียงใหม่. 254 หน้า
  3. นิมิต มรกต และเกตุรัตน์ สุขวัจน์. ปรสิตวิทยาทางการแพทย์: โปรโตซัวและหนอนพยาธิ. พิมพ์ครั้งที่ 1: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2546, 477 หน้า
  4. ประยงค์ ระดมยศ. อัญชลี ตั้งตรงจิตร. ศรีวิชา ครุฑสูตร. พลรัตน์ วิไลรัตน์. ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ. 2547. Atlas of Medical Parsitology with 465 color illustrations. สำนักพิมพ์เมดิคัล มีเดีย. กรุงเทพฯ. 465 หน้า
  5. ประยงค์ ระดมยศ, สุวณี คีภเวชย์ และศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ. 2539. ตำราปาราสิตวิทยาทางการแพทย์. ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 355 หน้า
  6. ประยงค์ ระดมยศ อัญชลี ตั้งตรงจิตร พลรัตน์ วิไลรัตน์ ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ แทน จงศุภชัยสิทธิ์. 2538. Atlas of Medical Parasitology. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์เมดิคัล มีเดีย. กรุงเทพฯ. 456 หน้า
  7. วีระยุทธ แดนสีแก้ว. 2538. ปรสิตวิทยาพื้นฐานทางการแพทย์. ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 301 หน้า.